บอกลาหน้าปรุ ด้วยวิธีรักษาหลุมสิว

บอกลาหน้าปรุ ด้วยวิธีรักษาหลุมสิว

เวลาที่มีสิวปรากฏขึ้นบนใบหน้าหน้า นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดจากอาการอักเสบและรอยแผลแล้ว บางครั้งยังทิ้งหลุมสิวให้กลุ้มใจยิ่งกว่า เพราะเจ้าหลุมสิวเหล่านี้เป็นเหตุให้ผิวหน้าดูขรุขระ ไม่เรียบเนียน แต่งหน้ากลบก็ลำบาก ทำเอาหลายคนหมดความมั่นใจ วันนี้เราจะมาบอกลาหน้าปรุกัน ด้วยวิธีรักษาหลุดสิวที่เรานำมาฝาก ซึ่งวิธีเหล่านั้นมีดังนี้

วิธีรักษาหลุมสิวแบบธรรมชาติ

ใครที่เริ่มมีหลุมสิวฝากไว้บนใบหน้า แต่ยังไม่พร้อมหรือไม่สะดวกรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ เพราะอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ก็ยังมีวิธีรักษาหลุมสิวแบบธรรมชาติ ด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่าย ๆ จากในครัว ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรอย่างใบบัวบก ว่านหางจระเข้ น้ำมันมะพร้าว ที่ช่วยสมานแผลและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน หรือใช้กรดผลไม้ เช่น หอมแดง มะนาว มะละกอสุก เพื่อแก้ปัญหารอยหลุมสิวก็ได้เช่นกัน

ยารักษาหลุมสิว

การรักษาด้วยยา สามารถแบ่งออกเป็นยาทาและยากิน เหมาะสำหรับรักษารอยหลุมตื้น ๆ ซึ่งมักจะเป็นรอยหลุมระดับทั่วไป โดยแบ่งได้เป็นดังนี้

  • ยาทา ยาที่นำมาใช้แต้มให้ผิวตื้นขึ้นมีอยู่หลายชนิด เช่น กรดวิตามินเอ, Retin A, TCA, AHA, BHA, PHA ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยทำให้เซลล์ผิวหนังด้านบนหลุดออก พร้อมซ่อมแซมให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น หรือเลือกใช้สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ วิตามินอี และ BHA ก็สามารถช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวได้เช่นกัน ข้อดีของการใช้ยาทาเหล่านี้คือ ช่วยลดรอยแดง รอยดำ ส่วนข้อเสียคือ ถ้าใช้ความเข้มข้นสูงอาจเกิดการระคายเคือง แสบ แดง คัน หรือด่างขาวได้
  • ยากิน ยาที่สกัดจากอนุพันธ์ของวิตามินเอ หรือ Retinoids สามารถช่วยกระตุ้นคอลลาเจนให้สร้างผิวใหม่ เพื่อเติมเต็มรอยหลุม และยังช่วยควบคุมความมันได้อีกด้วย แต่เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นยาที่มีผลต่อไขมันทั่วร่างกาย ระหว่างใช้อาจทำให้ตาแห้ง ผิวแห้ง ปากแห้งได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่าไปซื้อมากินเอง

รักษาหลุมสิวถาวรด้วยเครื่องมือทางการแพทย์

วิธีนี้เป็นการรักษาที่เหมาะกับผู้ที่มีหลุมสิวขนาดใหญ่มาก จนยาทาและยากินก็ช่วยไม่ไหว ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนัง ร่วมกับการทายาและครีมบำรุงร่วมด้วย โดยหลัก ๆ นวัตกรรมการรักษาหลุมสิว มีดังนี้

  • เลเซอร์ (Laser) มีทั้งกลุ่ม Fractional CO2, Fraxel, Fine scan, Fotona โดยกรอผิวด้านบนให้เรียบและกระตุ้นคอลลาเจนให้แผลเต็มมากขึ้น เหมาะกับหลุมสิวที่มีขอบชัด มีลักษณะเป็นหลุมลงไป หรือในกลุ่มที่มีรูขุมขนกว้าง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน ควรรักษาประมาณ 3-5 ครั้ง ทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ หลังการรักษาจะมีสะเก็ดบาง ๆ และรอยแดง ซึ่งจะหลุดไปเองได้ แต่ระหว่างนั้นควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และทาครีมกันแดด SPF มากกว่า 30 เพื่อปกป้องผิวที่กำลังฟื้นฟูอยู่
  • คลื่นวิทยุ (Radiofrequency – RF) เป็นกลุ่มนวัตกรรมที่คล้ายกับเลเซอร์ คือปล่อยพลังงานให้เกิดความร้อนที่ชั้นผิว เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนที่ผิวชั้นล่าง ข้อดีคือ ผลข้างเคียงเรื่องหน้าแดง รวมถึงการพักฟื้นต่าง ๆ ก็จะใช้เวลาสั้นกว่ากลุ่มเลเซอร์ โดยที่ผลของการรักษาหลุมสิวไม่ค่อยต่างกัน
  • ฟิลเลอร์ (Filler) เป็นการฉีดสารเติมเต็มเข้าไปใต้หลุมสิว ช่วยแก้ปัญหาหลุมสิวให้ตื้นขึ้นและกลับมาใกล้เคียงผิวเดิมของเราให้มากที่สุด เหมาะกับผู้ที่เป็นหลุมสิวชนิด Box Scar และ Rolling Scar ที่มีขนาดใหญ่ แต่ไม่ลึกมาก วิธีนี้เห็นผลรวดเร็วก็จริง แต่ไม่ถาวร เนื่องจากสารเติมเต็มจะสลายตัวไปในเวลา 6-12 เดือน

การเลาะพังผืดใต้ผิวหนัง

การรักษาโดยการเซาะพังผืดใต้หลุมสิว (Subcision) ส่วนใหญ่ใช้สำหรับหลุมสิวชนิด Rolling Scar โดยจะใช้เข็มขนาดเล็กเซาะทำลายพังผืดใต้แผล เพื่อกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจน ทำให้หลุมสิวตื้นขึ้น หลังทำอาจจะมีรอยช้ำเล็กน้อย แต่จะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์ และไม่มีแผลเป็น

ผ่าตัดรักษาหลุมสิว

การรักษาโดยวิธีผ่าตัดเย็บหลุมสิว (Punch Excision) เหมาะกับคนที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่หาย หรือเป็นหลุมสิวไม่มากนัก แต่หลุมลึกและกว้าง ซึ่งใช้เลเซอร์รักษาอย่างเดียวไม่ดี โดยแพทย์ผิวหนังจะทำการตัดหลุมสิวดังกล่าว และเย็บปิดด้วยไหมขนาดเล็ก จากนั้นจึงตัดไหมใน 5-7 วัน แผลจะหายดีใน 1 สัปดาห์ ทำเพียง 1 ครั้งเท่านั้น หลังแผลหายดีแล้วหลุมสิวที่ลึกและเป็นกล่องจะไม่มีให้เห็นอีก

แหล่งที่มา : women.kapook.com