ผักอบกรอบ กินแล้วอ้วนไหม
ผักอบกรอบ เป็นของกินเล่นที่มีกระแสอย่างมากในตอนนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่คนสั่งมากินกันทั้งนั้น เพราะสามารถหยิบกินเพลิน ๆ กรุบกรอบ ทว่าประโยชน์ของผักอบกรอบจะแตกต่างจากผัก-ผลไม้สดมากแค่ไหน กินผักอบกรอบแล้วอ้วนไหม มาเคลียร์ข้อสงสัยเหล่านี้กัน
ผักอบกรอบ คืออะไร
ผักอบกรอบ คือ การแปรรูปผัก-ผลไม้โดยนำไปผ่านกรรมวิธีฟรีซ ดราย (Freeze Drying) หรือทอดแบบสุญญากาศ (Vacuum Fried) เพื่อรีดน้ำออกจากผัก-ผลไม้สด ทำให้แห้ง กรอบ และเก็บได้นานขึ้น ที่สำคัญหลายคนยังบอกว่าผักอบกรอบกินง่ายกว่า อร่อยกว่า และกินได้เยอะกว่าผัก-ผลไม้สด ๆ อีกต่างหาก
ผักอบกรอบ ประโยชน์ดียังไง
- อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร
- มีวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินเอ แคลเซียม หลงเหลืออยู่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่ผักแต่ละชนิดและกับกรรมวิธีการผลิตด้วยนะ เพราะถ้าใช้วิธีทอดหรืออบด้วยลมร้อนไล่น้ำมัน มักจะสูญเสียวิตามินไปเกือบหมด
- ได้กินผักหลากหลายชนิด (กรณีซื้อแบบรวมผักหลาย ๆ ชนิดในถุงเดียวกัน)
- กินผักได้เยอะขึ้น โดยเฉพาะหากปกติไม่ค่อยกินผัก-ผลไม้สดเท่าไร
- มีประโยชน์มากกว่าขนมขบเคี้ยวทอดกรอบ เนื่องจากมีไขมันต่ำกว่า
ผักอบกรอบ กินแล้วอ้วนไหม
ต้องทำความเข้าใจก่อนกว่า ผักก็มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ และการทำผักอบกรอบก็ไม่ได้ทำให้ 2 สิ่งนี้ในผักหายไป แต่สิ่งที่หายไปคือน้ำและความชื้น ซึ่งทำให้ผักอบกรอบมีน้ำหนักเบา เมื่อนำมาชั่งในน้ำหนักเท่ากันผักอบกรอบจะมีปริมาณเยอะกว่าผักสดพอสมควร ซึ่งเท่ากับว่าเราจะกินผักอบกรอบได้ครั้งละมากกว่าผักสดเป็นไหน ๆ และร่างกายก็จะได้ทั้งคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลในปริมาณมากตามไปด้วย
ดังนั้นควรต้องระวัง เพราะหากกินผักอบกรอบครั้งละมาก ๆ บ่อย ๆ ก็อาจทำให้อ้วนขึ้นได้ ยิ่งถ้าผักอบกรอบที่กินมีน้ำมันจากการนำไปทอด หรือปรุงรสเพิ่มโซเดียม เพิ่มน้ำตาลด้วย โอกาสอ้วนก็จะยิ่งมากขึ้น
ผักอบกรอบ กินยังไงให้ปลอดภัยและไม่อ้วน
- ควรเลือกซื้อผักอบกรอบที่ผลิตด้วยการฟรีซ ดราย (Freeze Drying) หรือทอดแบบสุญญากาศ (Vacuum Fried) เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำมันจากการทอด
- ควรเลือกซื้อผักอบกรอบที่มีฉลากแสดงคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อจะได้กะปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับ
- เลือกชนิดผักอบกรอบที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ พลังงานต่ำ เช่น ผักใบเขียว บรอกโคลี เคล แครอต กระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น
- ควรกินผักอบกรอบเป็นอาหารว่างระหว่างมื้อ ไม่ควรกินเรื่อย ๆ ตลอดทั้งวัน
- กินผักอบกรอบหลาย ๆ ชนิด อย่างละนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วกินร่วมกับโยเกิร์ตไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ นมไขมันต่ำ ถั่วต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโปรตีนและสารอาหารอื่น ๆ ที่หลากหลาย
- จำกัดการรับประทานผักอบกรอบเพียงวันละ 30 กรัม หรือ 3 ช้อนโต๊ะ
ข้อควรระวังดก่อนกินผักอบกรอบ
- หลีกเลี่ยงผักอบกรอบที่ผลิตด้วยการนำไปทอดในน้ำมันแล้วมาอบร้อนไล่น้ำมันทีหลัง
- หลีกเลี่ยงผักอบกรอบที่ปรุงรสชาติ เติมน้ำตาล เกลือ สารสังเคราะห์ต่าง ๆ และสารกันบูด เพราะถ้ากินมาก ๆ จะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคไต
- หากรับประทานขนมอื่น ๆ น้ำหวาน หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักอบกรอบ เพราะอาจได้ปริมาณน้ำตาลเพิ่มไปอีก
- ไม่ควรกินผักอบกรอบแทนผัก-ผลไม้สด เพราะผักอบกรอบให้คุณค่าทางโภชนาการไม่เท่าผัก-ผลไม้สดอยู่แล้ว
- ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่มีน้ำหนักเกินต้องจำกัดการรับประทาน เพื่อป้องกันร่างกายได้รับน้ำตาลเกินปริมาณที่ควรได้รับ
แหล่งที่มา : health.kapook.com